คสป.ออกโรงปกป้องเสรีภาพสื่อฯ
วันเดียวกัน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการประชุมคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป (คสป.) ครั้งที่ 2 มีตัวแทนจากสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อมวลชน โดยนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมวิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นประธานที่ประชุมเพื่อหารือถึงข้อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ กรอบเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน โดยเสียงส่วนใหญ่เสนอให้ยึดโครงสร้างรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ตามมาตรา 45, 46 และเสนอให้ยกเลิกมาตรา 48 ที่บัญญัติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นใน กิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ ควรตัดออกจากหมวดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนในร่างรัฐ ธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ตรวจสอบได้ยาก โดยเห็นควรให้ไปใส่ในกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.แทน โดยให้ถือว่าค่าใช้จ่ายในกิจการสื่อมวลชนของพรรคการเมือง หรือนักการเมืองนั้น เป็นค่าใช้ของพรรคการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.
ย้ำจุดยืน “ประยุทธ์” ต้องไม่คุกคามสื่อ
นายเทพชัยกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นควรให้มีการส่งเสริมปกป้องเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความเห็น ควรได้รับการคุ้มครองในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนกรณีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถูกนายทหารกดดันผู้ดำเนินรายการ “เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป” นั้น เห็นว่าเป็นการกระทำเข้าข่ายคุกคามสื่อมวลชน แม้จะใช้ภาษาสุภาพ แต่วิธีสื่อสารและเนื้อหาส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการปฏิรูป จึงอยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สื่อสารไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาถึงจุดยืนที่ชัดเจน กรณีนี้ไม่ควรปิดกั้นสื่อมวลชน และไม่ควรให้เกิดเหตุการณ์ที่มีทหารอ้างคำสั่งผู้บังคับบัญชา รวมถึงอยากเห็น สปช.ผลักดันให้การปฏิรูปเกิดการมีส่วนร่วมมากที่สุด การประชุมวันนี้เป็นการแสดงความห่วงใยยังไม่ถึงขั้นออกแถลงการณ์ แต่จะสื่อไปถึงรัฐบาลและ คสช.ให้เห็นว่าสื่อมวลชนมีส่วนสร้างบรรยากาศการปฏิรูปประเทศ ส่วนข้อเรียกร้องให้ คสช.ยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และ 103 ของสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยนั้น ขณะนี้สังคมยังมีความหวาดระแวงอยู่ ดังนั้น คสช.จะต้องพิจารณาประกาศฉบับดังกล่าวด้วย ส่วนกรณีที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช.จะเชิญสื่อมวลชนหารือ ก็ยินดีให้ความร่วมมือ แต่จะต้อง พูดคุยบนพื้นฐานความเข้าใจไม่ทำให้เกิดการตีความว่า แทรกแซงสื่อมวลชน
นายกฯลงพื้นที่อีสานรับมือภัยแล้ง
สำหรับกำหนดการลงพื้นที่เพื่อประชุมรับมือภัยแล้ง และการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด จ.ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 19 พ.ย.นั้น ผู้สื่อ ข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันที่ 19 พ.ย. เวลา 08.15 น. พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางโดยเครื่องบินจากกองการบิน ขส.ทบ. ดอนเมือง ไปลงที่ท่าอากาศยานขอนแก่น จ.ขอนแก่น จากนั้นเดินทางต่อด้วยขบวนรถยนต์ไปยังศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นประธานปล่อยแถวเครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ประกอบด้วย รถบรรทุกน้ำ รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถขุดเจาะบ่อบาดาล รถผลิตน้ำดื่ม ก่อนจะเป็นประธานการประชุม ผวจ. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด โดยจะมีการหารือเรื่อง การดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และประเด็น ปัญหาในพื้นที่ ในช่วงบ่ายเวลา 13.30 น. ไปตรวจ เยี่ยมโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองใหญ่ ต.น้ำอ้อม อ.กระนวน จ.ขอนแก่น และพบปะประชาชน ก่อนที่จะเดินทางไปตรวจปริมาณน้ำของเขื่อนลำปาว อ.เมืองกาฬสินธุ์
มั่นใจไปได้ทุกที่ทั่วประเทศ
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งและการ ดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม จ.ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ก็ไม่มีอะไร ขอยืนยันว่าทุกพื้นที่ในประเทศไหน ตนไปได้หมด และไม่ได้เลือกว่าจะต้องไปที่ไหน การลงพื้นที่ครั้งนี้ นอกจากขอนแก่นแล้ว ก็จะไปกาฬสินธุ์ ต้องการไปดูโครงการที่กองทัพบกได้ทำไว้ที่หนองเลิงเปลือย ต.เหล่าอ้อย อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากนี้จะลงไปในทุกๆพื้นที่ไม่ว่าจะภาคเหนือหรือภาคใต้ พร้อมจะไปทุกภาค แต่เวลาช่วงนี้ค่อน ข้างจำกัด แค่ทำงานในกรุงเทพฯก็เกือบจะแย่
รับไปคุยปรับทัศนคติชาวบ้าน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะถือโอกาสลงพื้นที่ไปพูดคุยกับประชาชนที่ยังไม่เข้าใจ คสช.และรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีตอบว่า ใช่ๆ ไปพูดคุยส่วน ใหญ่เขาเข้าใจ เพราะตนพูดบ่อยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนสถานการณ์ภัยแล้งนั้น เจ้าหน้าที่มีการประเมิน แล้วว่าเราจะประสบปัญหาภัยแล้งค่อนข้างมาก และมากกว่าปีที่แล้ว รัฐบาลเป็นห่วงจึงจะลงพื้นที่ไปดู โดยจะพาหลายๆ กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมคณะไปด้วย ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะไปชี้แจงว่าจะมีการขุดบ่อน้ำบาดาลหรือจะทำที่กักเก็บน้ำในจุดใดบ้าง เพราะมีการวางงบ ประมาณไปแล้ว
เผยนัดหารือผู้บริหารสื่อที่ทำเนียบ
เมื่อถามว่า แสดงว่าไม่ได้มีการสั่งการให้ทหารยศพันเอก ชื่อย่อ ส. เข้าไปดำเนินการใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “เช็กแล้ว ไม่มีเรื่องนี้ ผมบอกเลยนะ ใครที่ทำผิดกติกาเขามีทหารเข้าไปคุยทั้งหมดทุกที่” เมื่อถามว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการร่างรัฐธรรมนูญ คสช.จะมีการเชิญผู้บริหารสื่อมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้นัดหมายแล้วที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ตนจำวันที่ไม่ได้ มีการลงนามเพื่อเชิญตั้งแต่ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ส่วนตนจะไปพบกับ
ผู้บริหารสื่อด้วยตนเองหรือไม่นั้นคงต้องดูก่อน
“วิษณุ” เผย “ประยุทธ์” ห่วงโรดแม็ปสะดุด
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีที่หัวหน้า คสช.เรียก ประชุมร่วม คสช. ครม. สนช. สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่อาคารรับรองเกษะโกมล วันที่ 18 พ.ย.นั้น เป็นการเรียกประชุมแม่น้ำ 5 สาย ว่าด้วยโรดแม็ประยะที่ 2 ของ คสช.ในการร่างรัฐธรรมนูญ หัวหน้า คสช.อาจจะห่วงอะไรบางอย่างและต้องการแจ้งให้ทราบ เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นมา คสช.ต้องรับผิดชอบ ขณะเดียวกันหัวหน้า คสช.ยังไม่เคยพบกับคนเหล่านี้อย่างเป็นทางการมาก่อน แต่คงไม่ลงรายละเอียดและใช้เวลาประชุมไม่มากนัก พล.อ.ประยุทธ์อาจจะใช้โอกาสนี้ ฝากอะไรบ้าง เช่น โรดแม็ปกรอบวัน เวลาพูดให้ตรงกันด้วย เพราะตอนนี้พูดไม่ค่อยตรงกัน
แย้มเริ่มร่าง รธน.อาจคลายอัยการศึก
เมื่อถามว่า กฎอัยการศึกเป็นปัญหาต่อการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า เราเองก็รู้ว่ากฎอัยการศึกมีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่คิดว่าไม่เป็นปัญหาต่อการร่างรัฐธรรมนูญ และไม่เชื่อว่าการประกาศกฎอัยการศึกจะยาวนานจนสิ้นสุดกระบวนการร่างรัฐ ธรรมนูญ กฎอัยการศึกจะค่อยๆผ่อนคลายลง เพราะถ้าลากยาวไปจะเป็นปัญหา เมื่อเริ่มร่างรัฐธรรมนูญตัวแรก ก็อาจจะเริ่มผ่อนคลายแล้วก็ได้ อย่างไรก็ตาม การประชุมร่วมวันที่ 18 พ.ย. ไม่มีการพูดถึงเรื่องกฎอัยการศึก เพราะขึ้นอยู่กับ คสช. เท่านั้น ส่วนความขัดแย้งสื่อมวลชนกับ คสช.เวลานี้ ความจริง คสช.เข้าใจการทำงานสื่อมวลชนดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นความกังวลซึ่งกันและกัน และไม่พูดจาร่วมกัน ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันได้ ฉะนั้นคงต้องมีเวทีหาทางพูดจากัน สื่อ อาจจะพูดไม่ง่าย แต่ถ้าไปพูดก็เข้าใจ
“เทียนฉาย” ยันไม่กระเทือนปฏิรูป
ด้านนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กล่าวว่า กรณีที่หัวหน้า คสช.เรียกประชุม 5 ฝ่ายนั้น ถือเป็นการหารือร่วมกันครั้งแรก แต่ยังไม่กำหนดวาระการหารือ คงมีการพูดคุยถึงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปประเทศ เชื่อว่าการเดินหน้าปฏิรูปจะไม่ขัดแย้งกับกฎอัยการศึก ไม่มีการตีกรอบความคิดของประชาชน อีกทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้เขียนว่าให้ฟังความเห็นเฉพาะฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง สำหรับใครที่มีความเห็นนอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญเขียนไว้คงไม่ใช่ปัญหา สำหรับเรื่องอัยการ ศึกได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว
“ประยุทธ์” แจงหารืออุปสรรคปัญหา
เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ถึงการนัดพูดคุย 5 ฝ่าย ประกอบด้วย ครม.-สปช.-สนช.-คสช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เวลา 14.00 น. ของวันที่ 18 พ.ย.ว่า ไม่มีอะไรเป็นพิเศษเพียงแต่ทั้งหมดยังไม่เคยคุยกัน จะเชิญมาทำความเข้าใจกันว่าที่เราได้วางกรอบโรดแม็ปเอาไว้นั้นแต่ละส่วนที่ ได้ดำเนินการไปตอนต้นมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรหรือไม่ เพราะวันนี้ต้องทำไปพร้อมๆกัน 3-4 อย่าง ทั้งสถานการณ์แผ่นดิน การปฏิรูป เรื่องของ คสช.-สปช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตนจะประสานทำความเข้าใจกับทุกส่วนว่าจะทำแผนงานกันอย่างไร แต่ยืนยันว่ารายละเอียดจะไม่เข้าไปยุ่ง เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย เป็นเรื่องการระดมความคิดเห็น
ยืนกรานไม่ผ่อนปรนคำสั่ง คสช.
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในส่วนของตัวแทนพรรคการเมืองที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในชั้นของกรรมาธิการร่าง รัฐธรรมนูญทราบว่า มีการสมัครเข้ามาหมดแล้ว ข่าวระบุว่ามาครบกันทุกพรรค ผู้สื่อข่าวถามว่า การรวบรวมความเห็นจะต้องผ่านการทำกิจกรรมของพรรคจะทำได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็เขายังไม่ให้ประชุมพรรค และผมว่าในส่วนของคำสั่งที่มีอยู่อย่ามาให้ผมหย่อนหรือผ่อนคลายในคำสั่ง ต่างๆเลย เพราะคำสั่งก็คือคำสั่ง กฎหมายก็คือกฎหมาย ถ้าให้หย่อนคำสั่งก็เหมือนให้หย่อนกฎหมาย เพราะที่สั่งออกไปคือกฎหมาย ฉะนั้นก็ต้องมาปรับท่าทีว่าจะทำอย่างไร ถ้าท่านอยากเข้ามามีส่วนร่วม ก็ขออนุมัติเข้ามา ขออนุมัติเพื่อประชุม เราก็จะจัดหาสถานที่ประชุมให้และขอเข้าไปนั่งฟังด้วย”
ปรามสื่อเคารพกติกาอย่าเพิ่มปัญหา
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ทหารเข้าไปคุกคามพิธีกรสถานีโทรทัศน์ ช่องหนึ่งและสั่งให้มีการปรับเปลี่ยนผู้ดำเนินรายการว่า “ผมไม่ได้ไปสั่งปรับนะ ไม่เกี่ยวและอย่าเอามาพันกันว่าผมต้องรู้ในฐานะหัวหน้า คสช. มันไม่เกี่ยวกัน แต่เท่าที่ทราบ คสช.เขาก็ไปพบผู้จัดรายการหรืออะไรสักอย่าง และหารือในลักษณะที่ไม่ใช่เป็นการข่มขู่ ทางสถานีเขาก็มีการปรับเป็นการภายในเอง ทหารยังไม่รู้จักเลยว่าพิธีกรเป็นใคร จะไปไล่คนโน้นคนนี้ออกได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องเคารพกติกากันบ้าง ถ้าคุณถามคำถามผมแล้วผมตอบก็โอเค แต่ถ้าคุณไปประชุมโดยมีคนจำนวนมาก แล้วไปตั้งคำถามให้คนเหล่านั้นมาด่าผม ด่ารัฐบาลหรือด่า คสช. มันถูกหรือไม่ และทำได้ไหมล่ะ ในเมื่อวันนี้ประเทศมีปัญหาหลายๆด้าน การที่ผมเข้ามาก็เพื่อให้ทำงานกันได้ เมื่อจะปฏิรูปกันอย่างไรก็ไปพูดคุยกันมา ผมก็จะอำนวยความสะดวกในการปฏิรูปให้ท่านไปสู่กฎหมาย ไปสู่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ดีๆ ท่านมาด่าผมในสิ่งที่มันเกิดมาก่อนหน้านี้ ผมรับไม่ได้”
ยอมรับฉุนขาดนั่งด่า คสช.—รัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า เสรีภาพของสื่อในการทำหน้าที่ยังคงเป็นปกติใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “ปกติทุกอย่าง แต่ผมขอและต้องเห็นใจผมบ้าง ผมเข้ามาทำงานเยอะ ตอนนี้ก็ 5 เดือน คสช.ไม่ได้ทวงบุญคุณแต่เข้ามารื้อเยอะมาก ที่ผ่านมาก็มีแผนปฏิรูปมาหลายรัฐบาล แต่ทำไม่ได้ ผมเข้ามาก็อยากให้มันทำได้ ซึ่งวันนี้ก็เริ่มทำได้แล้ว แต่แทนที่จะไปแก้ในสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ ดันมาด่าผม ด่า คสช. ด่ารัฐบาล มันไม่ใช่ ไปถามชาวบ้านว่าอย่างนี้พอใจหรือไม่พอใจ ผมอยากถามว่าที่ผมทำทุกอย่าง ทำเพื่อใคร ทำให้กับพวกผมอย่างนั้นหรือ ผมทำให้พวกท่านทั้งนั้น ทำให้ประชาชนซึ่งเขาจะได้รับประโยชน์ก็ขอให้ช่วยกันหน่อยเถอะ”
ไม่ผ่อนปรน แถมอัดพรรคการเมือง
เมื่อถามว่า พรรคการเมืองต้องการให้ลดระดับกฎอัยการศึกลงเพื่อทำการประชุมเสนอความเห็น ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตรตอบว่า พรรคการเมืองก็เช่นกัน เราเปิดโอกาสให้มี สปช.แล้วทำไมไม่ไปสมัคร เราเปิดให้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิรูป อยากจะทำอะไรก็เสนอ สปช.ได้ เขาพร้อมจะดูแลทั้งหมด ยอมให้ทุกเรื่องแล้วทำไมต้องไปทำอะไรที่ขัดต่อกฎหมาย ตนไม่เข้าใจ เมื่อเปิดรับสมัคร สปช.ก็ไม่มาสมัคร ให้เข้ามาชี้แจงก็ไม่มา เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้พรรคการเมืองจัดประชุมพรรคเพื่อนำข้อมูลไปเสนอต่อ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตรตอบว่า ข้อมูลเขียนเมื่อไหร่ก็ได้แล้วก็ส่งไป ไม่จำเป็นต้องรวมตัวกัน 200-300 คน ตนเชื่อว่าหัวหน้าพรรคมีศักยภาพพอ เราไม่ได้ห้ามหัวหน้าพรรค ถ้ามีความสามารถในการเขียนหนังสือได้ก็ทำได้หมด
พ้อคนไม่ฟังรายการคืนความสุข
เมื่อถามว่า มองสภาพความมั่นคงภายในประเทศขณะนี้อย่างไรหลังจาก คสช.เข้ามาบริหารประเทศเกือบ 6 เดือน พล.อ.ประวิตรตอบว่า ตนเห็นว่าบ้านเมืองก็มีความสงบ ถ้าทำทุกอย่างไปตามกฎหมาย ทำตามที่ คสช.และรัฐบาลแนะนำมันก็ไม่มีอะไร ขอให้ฟังนายกฯที่ทำงานเหนื่อยและพูดทุกวันศุกร์ ตนอยากให้ทุกคนฟัง เพราะเดี๋ยวนี้คนที่ฟังก็ไม่อยากฟังอีกแล้ว สมัยก่อนก็ว่าพูดดี นายกฯอุตส่าห์ทำงานทุกอย่าง แต่เพิ่งผ่านมา 4-5 เดือน ขอเวลาอีกไม่นาน พอรัฐธรรมนูญเสร็จก็ว่ากันไปเลย ผู้สื่อข่าวถามว่า ดัชนีความสุขของคนไทยขณะนี้เป็นอย่างไร พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า “แล้วคิดว่าดีหรือไม่ ถ้าผู้สื่อข่าวเห็นว่าดีก็ดี” เมื่อผู้สื่อข่าวตอบไปว่า ก็พอไปได้ ทำให้ พล.อ.ประวิตรมีน้ำเสียงอ่อนลง
หัวหน้า คสช.เรียกถกด่วน 5 ฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า สำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดที่ คสช.(สลธ)/3014 เรื่องเชิญประชุมร่วมระหว่าง คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.)ตัวแทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตัวแทนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามคำเชิญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในวันที่ 18 พ.ย. 2557 เวลา 14.30 น. ที่อาคารรับรองเกษะโกมล
สำหรับการประชุมดังกล่าวเพื่อหารือความคืบหน้ารวมถึงปัญหาอุปสรรคของงาน แต่ละสาย เพื่อให้เป็นไปตามโรดแม็ปของ คสช.ที่วางไว้ โดยเฉพาะงานในส่วนของการสร้างความปรองดองเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศของ สปช. หลังจากสมาคมนักข่าวฯเคลื่อนไหวให้ยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และ 103 และหารือข้อเรียกร้องของพรรคการเมืองที่ตั้งแง่ให้ คสช.ทบทวนการใช้กฎอัยการศึก เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น หลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญระบุจะเชิญพรรคการเมืองเข้าไปเสนอความ คิดเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. มีความเป็นห่วงว่า 2 ประเด็นดังกล่าวจะกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาลและ คสช. จนงานสะดุดไม่เป็นไปตามโรดแม็ปของ คสช.ที่วางไว้ จึงกำชับให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมในสายงานต้องเข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน
แหล่งที่มา : ไทยรัฐ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น