สปช.สายสื่อขอเปิดช่องเสรีภาพ
นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สปช. รองโฆษกคณะกรรมาธิการการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวถึงการแสดงท่าทีของสื่อมวลชนภาคสนามต่อรัฐบาล โดยใช้สัญลักษณ์ “ปิดหู ปิดตา ปิดปาก” ว่าการปฏิรูปต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ตามหลักการสื่อมวลชนควรมีเสรีภาพในการทำหน้าที่โดยสุจริตใจ ขณะนี้อยู่ในภาวะที่ คสช.ยังต้องดูแลความมั่นคงไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ดังนั้นสื่อต้องมีเสรีภาพและพิสูจน์ให้เห็นว่าเราร่วมกันทำหน้าที่อย่าง เหมาะสม เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ตนอยากเห็นการผ่อนคลายของ คสช. เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน ประชาชน แสดงความคิดเห็นเต็มที่ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปฏิรูปที่ต้องเปิดรับฟังประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ การปฏิรูปจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับสื่อมวลชนเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ต้องทำด้วยความเต็มใจ ถ้าต้องให้สื่ออยู่ในภาวะอึดอัดใจ ตนก็ไม่เห็นด้วย ในฐานะ สปช.เห็นสถานการณ์เช่นนี้ บอกได้คำเดียวว่ากลุ้มใจ ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง คสช.และสื่อ-มวลชนไปมากกว่านี้
เตือน “บิ๊กตู่” ระวังเป็นตัวตลก
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่น่าเกิดขึ้นหลังจากนายกฯเพิ่งไปประชุมเวทีนานาชาติ 2 เวที มีผู้นำประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วม เพราะต่างชาติให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชนมาก การปิดกั้นการทำงานของสื่อแบบนี้ยิ่งทำให้สิ่งที่นายกฯพูดในเวทีผู้นำ ว่าจะแก้ไขและปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นนั้นเสียไปหมด เนื่องจากต่างชาติจะไม่เชื่อถือคำพูดนายกฯ และยิ่งทำให้การปฏิรูปประเทศเหมือนเป็นการมัดมือชก ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นท่านจะกลายเป็นตัวตลกในสายตาต่างชาติ คราวหน้าไปพบผู้นำต่างชาติอีกท่านจะไม่รู้เอาหน้าไปไว้ที่ไหน
อนุฯ กมธ.ฟังความเห็นจ่อเปิดเวที
ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการประสานงานเพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจาก สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และองค์กรต่างๆ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าและในสัปดาห์ถัดไป อนุกรรมาธิการฯจะเชิญองค์กรต่างๆมาให้ข้อคิดเห็น แต่ยังไม่ระบุว่าเป็นองค์กรใด จากนั้นจะเดินทางไปพบปะพูดคุย และแจกแบบสอบถามเพื่อนำข้อมูลส่งต่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งจะเป็นการสื่อสาร 2 ทาง เชื่อว่ากระบวนการรับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปจะไม่มีปัญหา นอกจากนี้อนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน ที่มีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็นประธานฯ ได้เชิญชวนประชาชนร่วมส่งความคิดเห็น ผ่านตู้ ปณ.9 ปณฝ.รัฐสภา และจะจัดเวทีสานเสวนาทั่วประเทศ โดยสุ่มตัวอย่างคนในพื้นที่เข้าร่วมแสดงความเห็น รวมถึงการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน
เมินอัยการศึกค้ำคอเวทีสานเสวนา
เมื่อถามว่า กังวลว่ากระบวนการรับฟังความเห็นและการแสดงความเห็นจากภาคส่วนต่างๆจะสะดุด หรือไม่ เพราะยังมีประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ พล.อ.เลิศรัตน์ตอบว่า เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการรับฟังความเห็น เพราะทุกครั้งที่จะมีการตั้งเวทีสานเสวนาจะแจ้งไปยัง คสช.ก่อน เป็นกระบวนการทำอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา และการแสดงความเห็นต่อการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการ ไม่ได้ผิดต่อกฎหมาย แต่เป็นการพูดถึงรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมีขึ้นในอนาคต และถ้าทำด้วยความตั้งใจก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ต้องเข้าใจว่าขณะนี้มีกฎอัยการศึก รัฐบาลและ คสช.ต้องระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง ดังนั้นถ้าการทำงานของเรามุ่งไปสู่เหตุและผลในการร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ก็จะเดินหน้าไปได้ไม่มีปัญหา
“ดิเรก” เชื่อถึงเวลาเลิกกฎเหล็กเอง
นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.นนทบุรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศว่า ขณะนี้รัฐบาลมองมากกว่าที่เรามอง รัฐบาลคงมองว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะจะแตกหักได้ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงคุมอัยการศึกไว้อยู่ แต่พอการร่างรัฐธรรมนูญเริ่มเข้าที่เข้าทาง เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลจะเลิกกฎอัยการศึกไปเอง เมื่อถามว่า นายดิเรกเป็นซุปเปอร์ดีลเข้าได้กับทุกฝ่าย จะใช้คุณสมบัตินี้ทำยังไงให้รัฐธรรมนูญออกมาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย นายดิเรกตอบว่า จะพยายามประสานทุกฝ่าย เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจให้ยกร่างรัฐธรรมนูญตามหลักสากล ที่ผ่านมาโดนกล่าวหาจากทั้ง 2 ขั้วการเมือง แต่เรามีหลักยืนอยู่ในสิ่งที่ถูกต้อง
ทหาร–ตร.จับแกนนำปฏิรูปที่ดิน
ส่วนกรณีที่ คสช.กดดันกลุ่มปฏิรูปที่ดิน นำโดยนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ให้ยกเลิกการจัดทอล์กโชว์และคอนเสิร์ต “ผืนดินเรา ที่ดินใคร” ทำให้กลุ่มปฏิรูปที่ดินนัดแถลงสาเหตุการยกเลิกงาน “ไม่มีทอล์กโชว์ภายใต้ท็อปบูต” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน แต่ พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษา–ทรัพย์ รอง ผกก.สืบสวน สน.ชนะสงคราม นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 นาย สมทบกับเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย นำแผงเหล็กและโซ่มาปิดกั้นตลอดแนวด้านหน้าและด้านข้างทางเข้า พร้อมประกาศห้ามมีการเคลื่อนไหวใดๆ ทำให้กลุ่มมวลชนผู้สนับสนุนการจัดงานเปลี่ยนวิธีมาถือจดหมายเปิดผนึก พร้อมนำเทปกาวสีดำมาปิดปากแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เจ้าหน้าที่ทหารจึงประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ นางนุชนารถ แท่นทอง นายปกรณ์ อารีกุล นางหนูเกณ อินทจันทร์ และนายสมพร หารพรม ไปสอบถามและปรับทัศนคติ ที่ สน.ชนะสงคราม โดยมี น.ส.เกศริน เตียวสกุล เลขานุการ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนมาร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งล่าสุดทั้งหมดถูกปล่อยตัวแล้ว
แฉทหารกดดันล้มการจัดงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จดหมายเปิดผนึกของกลุ่มปฏิรูปที่ดิน ระบุว่าไม่เห็นด้วยต่อการแทรกแซงปิดกั้นเสรีภาพ การเข้าถึงรับรู้และใช้กำลังปิดกั้นพื้นที่จัดงานทอล์กโชว์เพื่อรณรงค์ผลัก ดันร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม รวมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก โดยทันที และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในนโยบายสาธารณะช่วงที่มีการปฏิรูป ประเทศเพื่อนำความปรองดองกลับสู่ชาติ นอกจากนี้ยังมีเอกสารถอดบันทึกบทสนทนาแบบคำต่อคำ ระหว่างผู้จัดงานและเจ้าหน้าที่ที่พยายามกดดันให้ล้มเลิกงานทอล์กโชว์ดัง กล่าวเมื่อวันที่ 12-14 พ.ย.
คสช.อ้างแค่คุมตัวปรับทัศนคติ
พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ตามที่ได้รับมอบหมาย เป็นดุลพินิจของหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และจะนำกลุ่มดังกล่าวไปพูดคุยกันที่ไหน แต่เบื้องต้นเป็นการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจในลักษณะร้องขอ ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันมากขึ้น และชี้แนะว่าช่องทางการปฏิรูปสามารถเสนอแนะตามช่องทางใดบ้างที่ไม่ขัดต่อ กฎหมาย คิดว่าจะพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกันได้
วงปฏิรูปศาสนาแนะทำประชามติ
วันเดียวกัน ที่ห้องทับทิม โรงแรมรัตนโกสินทร์ เวทีสภาประชาชน (สภ.ช.) คณะศรัทธาสำนักปฏิบัติธรรมพุทธชยันตี สมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย (สร.พป.) สภาปฏิรูปภาคประชาชนคู่ขนาน (ส.ป.ด.) และองค์กรภาคประชาชน 10 องค์กร จัดสัมมนาวิชาการ “ปฏิรูปอย่างไรให้คนไทยมีความสุขในเชิงพุทธศาสนา” โดยพระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวว่า ต้องมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั้งประเทศ และไม่ควรเหมาเข่ง ควรทำเป็นรายมาตรา และให้ระบุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ พร้อมตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา
รองอธิการ มจร.ห่วง “หลวงพี่เทพ”
พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวต่อว่า ได้ดูคลิปที่วัดสวนโมกข์ จ.สุราษฎร์ธานี ที่พระบวชใหม่พูดปฐกถาธรรมหรือพูดการเมือง ทั้งที่ยังอยู่ในช่วงกฎอัยการศึก เราห่วงเรื่องคำพูด การประพฤติปฏิบัติ คนพูดควรมีสมณภาวะ มีวุฒิภาวะ เห็นวิสัยของความเป็นพระว่าควรหรือไม่ควร มหาเถรสมาคมควรให้พระอุปัชฌาย์ของพระสุเทพตักเตือน เพราะยังเป็นพระบวชใหม่ ต้องรอให้พ้น 5 ปีก่อนจึงจะพ้นจากการดูแลของอุปัชฌาย์ การมาบวชควรนึกถึงความร่มเย็น ใช้หลักธรรมนึกตรึกตรองถึงสิ่งที่ทำมา ไม่ใช่เอาร่มกาสาวพัสตร์ห่มแล้วทำตัวเป็นฆราวาส
“ปนัดดา” ชิ่งไม่เป็นเหยื่อการเมือง
อีกเรื่อง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ สนช. เชิญไปให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีรับจำนำข้าวว่า ทราบข่าวจากสื่อก็ยังตกใจอยู่ที่มีชื่อ เรื่องนี้แล้วแต่ผู้บังคับบัญชา ไม่ใช่เรื่องที่จะมาตัดสินใจว่าจะไปพูดที่นั่นที่นี่ เรื่องแบบนี้ทำตามอัธยาศัยตัวเองได้ที่ไหน เมื่อถามว่าล่าสุดพรรคเพื่อไทยออกมาคัดค้านเรื่องนี้ ม.ล.ปนัดดาตอบว่า ถ้าเอาตนเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องการเมือง ไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย ขอทำหน้าที่ข้าราชการเท่านั้น ทำตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้สำเร็จเรียบร้อย ถือเป็นภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ ขอไม่เข้าเป็นตัวขัดแย้งอะไรทั้งสิ้น เพราะเวลานี้ดูจากหน้าหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างพูดกันไปพูดกันมา ไม่อยากให้สุดท้ายแล้วตกไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง
“บิ๊กโด่ง” ปรามสื่ออย่าแหย่ให้สะดุด
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 พ.ย. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและ ผบ.ทบ.กล่าวถึงกรณีสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์ขอรัฐบาลและ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อบทบาทสื่อมวลชน จากกรณีมีกลุ่มนายทหารไปกดดันสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ให้ยุติรายการ “เสียงประชาชน ต้องฟังก่อนปฏิรูป” ว่า ต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ประเทศขณะนี้เป็นช่วงที่ต้องเข้าไปดูแล แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปละเมิดสิทธิโดยทั่วไปของสื่อมวลชน สื่อสามารถเสนอข่าวได้อยู่แล้ว เพียงแต่ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ สื่อส่วนใหญ่เข้าใจต้องขอขอบคุณ แต่สื่อบางสื่อเสนอไปในแง่แหย่ให้เกิดความแตกแยก ทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย ถ้าจะเป็นจังหวะทำให้บางคนมีชื่อเสียงขึ้นมาก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ควรระมัดระวัง ถ้ามีแนวที่จะออกไปในทางที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ทำให้สถานการณ์มันราบรื่น ก็ต้องพูดคุยกัน
ยํ้าบางรายการเริ่มออกนอกกรอบ
พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ไม่ได้ไปทำอะไรในทางข่มขู่และไม่สุภาพ แต่เป็นการเข้าไปขอว่า ขอเถอะถ้าทำแล้วไม่เกิดผลดีกับภาพรวม ทุกคนมีวิจารณญาณรู้ตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้น่าภาคภูมิใจหรือไม่ สถานการณ์ภาพรวมทุกอย่างกำลังไปได้ด้วยดี แล้วรายการที่ออกๆไปกรอบเริ่มจะกระทบต่อความไม่เรียบร้อยในภาพรวมต่อทางรัฐ ต่อคนที่กำลังตั้งใจทำงาน มันก็ต้องคุยกันได้ แต่พอคุยแล้วมีคนความคิดอีกแบบหนึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล ทุกคนอยากให้เป็นไปตามโรดแม็ปที่หัวหน้า คสช.วางไว้ แต่ถ้ามันออกไปทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย ไม่ราบรื่นต่อไป มันก็ต้องคุยขอร้องกัน พยายามทำให้เกิดความเข้าใจ
ให้อดใจรอจนกว่าถึงโรดแม็ป 3
เมื่อถามว่า จำเป็นที่ คสช.กับสื่อมวลชนต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันอีกรอบในการนำเสนอข่าว และสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชตอบว่า มันก็ชัดมาตลอด ถ้าไม่มีอะไรถ้าเชิญมาอีกก็เป็นข่าวอีก ไม่เข้าใจกันมากไปอีก เชื่อว่าสื่อส่วนใหญ่เข้าใจกันชัดแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำให้ชัดไปอย่างไรอีก อยากบอกว่าสถานการณ์ยังไม่อยู่ในห้วงโรดแม็ปที่ 3 พูดตามความจริงยังไม่ปกติสูงสุด มันปกติมาระดับหนึ่งแล้วควรรักษาไปในขั้นที่ปกติสูงสุดต่อไป ระมัดระวังเสนอข่าวไปในทางวิชาการ สร้างสรรค์ เสริมสมองในทางที่ดี น่าจะทำไป แต่ถ้าออกในแนวกระแทกยุแหย่อะไรต่างๆ แล้วรายการตัวเองดังขึ้นมาเป็นที่นิยมแบบแปลกๆอย่างนี้ คิดว่าแต่ละคนในใจรู้ดีว่า จะทำเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร เดี๋ยวเข้าสู่โรดแม็ปที่ 3 สู่โหมดเลือกตั้งแล้วอดใจกันอีกสักนิด วันนี้อยากให้ประคองไปถึงจุดนั้น ไม่อยากให้มีสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่ราบรื่นไม่เรียบร้อย ขณะนี้ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องดูแลอยู่
รบ.—คสช.ไม่หนักใจปมถอดถอน
เมื่อถามว่า มองว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้ของ คสช.และรัฐบาลอ่อนไหวหรือไม่ จากการที่ สนช.กำลังพิจารณาถอดถอนคดีรับจำนำข้าว พล.อ.อุดมเดชตอบว่า เรื่องการถอดถอนเป็นหน้าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประชาชนได้เห็นความเป็นประชาธิปไตยของ สนช.ไปแล้ว ว่าสามารถมีข้อคิดเห็นต่างๆอยู่ในกรอบที่เป็นไปได้ ในความรู้สึกส่วนตัวไม่ได้หนักใจ และเชื่อว่าผู้ใหญ่ของรัฐบาลก็ไม่ได้หนักใจ อยู่ที่การให้ข้อคิดเห็นและมุมมองของ สนช.ว่ามันควรเป็นไปอย่างไร และต้องลงมติไปในแนวทางนั้น คสช.ไม่ไปก้าวล่วง
“วินธัย” วอนอย่ามอง คสช.แง่ร้าย
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกและทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า คสช.พยายามดูแลทุกส่วนให้เรียบร้อย อะไรที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความสับสนขัดแย้ง จำเป็นต้องใช้การพูดคุยปรึกษาทำความเข้าใจในลักษณะขอร้องกัน ไม่ใช่การสั่งหรือบังคับอย่างที่ไปขยายความกัน ขอให้มองที่เจตนาของ คสช.จำเป็นต้องดูแลบรรยากาศและความรู้สึกทั้งสังคม ให้บ้านเมืองเดินหน้าไปตามแผนและเป้าประสงค์ส่วนรวมร่วมกัน ที่ผ่านมา คสช.เคารพการทำหน้าที่ของสื่อ เชื่อมั่นว่ามีเจตนาดีต่อบ้านเมือง แต่ด้วยมุมมองที่อาจแตกต่างกันบ้าง เนื่องจากสถานะและหน้าที่ต่างกัน และในช่วงสถานการณ์พิเศษที่มีความละเอียดอ่อนอยู่ขณะนี้ จึงมักปรึกษาแลกเปลี่ยนความเข้าใจกันอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งก็ทำหนังสือหรืออาจโทรศัพท์พูดคุย หรือไม่ก็เข้าไปขอคำปรึกษากันอย่างกรณีล่าสุด
ชี้พูดคุยได้ไม่ต้องงัดใช้กฎหมาย
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ปัจจุบันการพูดคุยไม่ได้ใช้ข้อกฎหมาย หรือประกาศคำสั่ง ยืนยันใช้วิธีขอคำปรึกษาและขอความร่วมมือเป็นหลัก โดยหยิบยกประเด็นมุมมองที่แตกต่างมาอธิบายมีเหตุมีผล จนเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้ใช้มิติในด้านกฎหมายไปบังคับ ไม่อยากให้ขยายผลไปในเชิงว่ามีความขัดแย้งระหว่างสื่อกับ คสช. ยืนยันว่าให้เกียรติทุกคน และทำงานร่วมกับสื่อในฐานะคนครอบครัวเดียวกันมาตลอด ส่วนข้อกังวลของสมาคมสื่อฯน่าจะทำความเข้าใจกันได้ ที่ผ่านมาสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นจนเข้าใจกันได้ ไม่น่ามีปัญหา
คสช.เชิญทำความเข้าใจรอบสอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในสัปดาห์นี้คณะกรรมการติดตามการเผยแพร่ข่าวสารสาธารณะ ที่มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองหัวหน้า คสช.เป็นประธาน จะเชิญตัวแทนบรรณาธิการสื่อ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ที่ยังไม่ได้ร่วมพูดคุยในรอบแรก มาทำความเข้าใจถึงการนำเสนอข่าวสารในรอบที่สอง เนื่องจาก คสช.เห็นว่าสื่อมวลชนและคอลัมนิสต์มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางความสงบเรียบ ร้อยในบ้านเมือง โดยมี พล.ท.สุชาติ ผ่องพุฒิ เจ้ากรมกิจการทหารสื่อสาร ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการฯเป็นหัวหน้าทีมพูดคุย ที่สโมสรนายทหารสัญญาบัตร กรมการทหารสื่อสาร
องค์กรสื่อหวังฝ่ายมั่นคงลดโทนแข็ง
ด้านนายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันที่ 17 พ.ย. เวลา 10.00 น. คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ประกอบด้วย ตัวแทนจากสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และตัวแทนภาคประชาสังคม มีนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นประธาน นัดประชุมกันเป็นครั้งที่ 2 คงนำเรื่องที่เกิดขึ้นกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสขึ้นมาพูดคุยกัน และกำหนดท่าทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เท่าที่ทราบผลจากการเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนภาคสนามเมื่อวันที่ 15 พ.ย. ทำให้ฝ่ายรัฐบาลและความมั่นคงมีท่าทีรับฟังพอสมควร และจะปรับท่าทีให้ผ่อนคลายลงและจะมีความชัดเจนต่อเรื่องนี้มากขึ้น จึงอาจไม่ต้องยื่นหนังสือเรียกร้องก็ได้
เดินหน้าบี้ยกเลิก คสช.ฉบับ 97, 103
นายมานพกล่าวต่อว่า สำหรับการเคลื่อนไหวให้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ หน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และ 103 ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้น สื่อมวลชนต้องช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ การยกเลิกประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ที่เทียบเท่า พ.ร.บ. ต้องใช้เวลาพอสมควร หากยังมีประกาศดังกล่าวอยู่จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการพูดคุยเพื่อการปฏิรูป ที่สื่อต้องถ่ายทอดความเห็นการปฏิรูปของประชาชนที่เห็นต่างได้ เพราะไม่เอื้อให้สื่อมีเสรีภาพ
“บิ๊กโด่ง” โชว์บทเฮี้ยบ ปรามสื่ออย่าแหย่ให้โรดแม็ปสะดุด เหน็บบางคนเริ่มออกนอกกรอบเลยต้องพูดคุย แนะอดใจไปปล่อย ของช่วงเฟส 3 “วินธัย” วอนอย่ามอง คสช.แง่ร้ายยังพูดคุยกันได้ แต่จ่อเรียกสื่อทีวี-วิทยุ-หนังสือพิมพ์ทำความเข้าใจรอบสอง องค์กรสื่อหวังรัฐบาล-ฝ่ายมั่นคงลดโทนแข็ง เดินหน้าบี้ยกเลิกคำสั่งฉบับ 97,103 “สุรพงษ์” เตือน “บิ๊กตู่” ระวังเป็นตัวตลกเวทีโลก ทหาร-ตร.จับแกนนำกลุ่มปฏิรูปที่ดิน โฆษก คสช.อ้างแค่คุมตัวปรับทัศนคติ “ปนัดดา” รู้ทันเกมชิ่งไม่ขอเป็นเหยื่อการเมือง “ไอเดีย” บรรเจิดรื้อฟื้นข้าราชการทำเนียบแต่งชุดกากี ขรก.สลน.ข้องใจสวัสดิการเหลื่อมล้ำ ต้องกู้เงินตัดชุดใหม่ แต่ของสปน.ได้คนละพันบาทฟรีๆ พท.เล็งฟ้อง “บิ๊กตู่-บิ๊กต๊อก” สอบ ป.ป.ช. ดองคดี ปรส.-ประกันข้าว สำนวนสอย 38 ส.ว. ถึง สนช. “กลชัย” ยึด ป.ป.ช.เป็นหลัก ครม. ได้ฤกษ์ใช้ห้อง 501 ประชุม
ตามที่สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ขอรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงจุดยืนต่อกรณีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและ ผบ.ทบ. ยืนยันว่าไม่ใช่การแทรกแซง แต่ต้องพูดคุยได้ เพราะบางรายการเริ่มออกนอกกรอบ ทำให้โรดแม็ป คสช.สะดุด
แหล่งที่มา : ไทยรัฐ
Reference: ‘บิ๊กโด่ง’ปราม มีสื่อออกนอกกรอบ