นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการ สศช.เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงการทวายระยะแรกจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็ก ได้แก่ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 27 ตารางกิโลเมตร จากพื้นที่ โครงการทั้งหมด 196 ตารางกิโลเมตร และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งในเดือน พ.ค.นี้ ภาคเอกชนของไทยที่ชนะการประกวดราคาในโครงการพัฒนาทวายในระยะแรก ซึ่งได้แก่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) จะลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการทวายระยะแรกกับรัฐบาลพม่า
ส่วนรัฐบาลพม่าจะลงทุนก่อสร้างถนน 2 เลน เชื่อมโยงจากโครงการทวายมายังชายแดน ประเทศไทย บริเวณบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 4,500 ล้านบาท คาดว่าใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยไทยจะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่ง สศช.ต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.เตรียมเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตอนในเพิ่มเติม จากที่มีแผนอยู่เดิมใน 10 จังหวัดชายแดน โดยจะเลือกจังหวัดที่มีศักยภาพ เช่น จ.ฉะเชิงเทรา จ.ปราจีนบุรี จ.นครราชสีมา โดยอาจจัดทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมไฮเทค เขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งการจัดทำเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 โดยใช้วิธีการจับคู่ให้เป็นคลัสเตอร์ เช่น จ.มุกดาหารคู่กับ จ.สกลนคร
ส่วนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคม อุตสาหกรรมทวายในประเทศพม่า ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นตกลงเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการทวายระยะสมบูรณ์ โดยจะเข้าร่วมนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ร่วมกับไทยและพม่า ที่ปัจจุบันถือหุ้นใน SPV ฝ่ายละ 50% คาดว่าจะมีการลงนาม ในสัญญาความร่วมมือระหว่าง 3 ฝ่ายได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งตนเองจะหารือในรายละเอียดเพิ่ม เติมระหว่างการเดินทางไปญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 23-25 เม.ย.นี้ และจะได้หารือเรื่องอื่นๆ เช่น การ ก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง
แหล่งที่มา : ไทยรัฐ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น